JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0
 

50 เขตในกรุงเทพรอดจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554

2012-01-29 18:43:12 ใน 50 เขตในกทม.น้ำไม่ท่วม » 0 33743 50 เขตในกรุงเทพรอดจากภาวะน้ำท่วมใหญ๋ ปี2554

วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 ที่เพิ่งคลี่คลายกลายเป็นความทรงจำที่ติดตาตรึงใจ จนยากจะลบเลือนจากคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มหาอุทกภัยครั้งนี้หนักหน่วงกว่าทุกครั้งในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา หลังคลื่นมวลน้ำแทบจะกลืนทั้ง 50 เขตจมมิด เหลือไม่กี่เขตที่รอดเป็นทำเล...น้ำไม่ท่วม

เปิดโผ 12 เขตรอด

จากข้อมูลของ "กทม." พบว่า มี 12 เขตที่น้ำไม่ท่วมคือ ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ คลองสาน ป้อมปราบศัตรูพ่าย ราชเทวี วังทองหลาง พญาไท วัฒนา สาทร สวนหลวง ปทุมวัน และบางนา

มี 9 เขตที่เสียหายบางส่วนจากปริมาณ "น้ำเจ้าพระยาขึ้น-ลง" หรือได้รับผลกระทบช่วงสั้น ๆ ประกอบด้วย พระนคร ดุสิต สัมพันธวงศ์ บางรัก บางคอแหลม คลองเตย ยานนาวา พระโขนง และบางซื่อ

ส่วนเขตเสียหายบางส่วนที่เกิดจาก "น้ำเหนือ" แยกเป็น 2 ส่วนคือ เสียหายเกิน 20% มี 9 เขต ได้แก่ ประเวศ คันนายาว มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง ลาดพร้าว บางกอกน้อย และบางบอน เสียหายน้อยกว่า 20% มี 8 เขตคือ ดินแดง ห้วยขวาง บึงกุ่ม บางกะปิ บางกอกใหญ่ จอมทอง ธนบุรี และบางขุนเทียน

และที่เสียหายแบบยกเขตจากน้ำเหนือและได้รับกระทบเป็นเวลานานมี 12 เขต ได้แก่ ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางพลัด บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม ดอนเมือง บางเขน สายไหม หลักสี่ จตุจักร และคลองสามวา

ยอดผู้ประสบภัยมีทั้งสิ้น 828,915 ครัวเรือน ล้วนอยู่ในพื้นที่ 12 เขตที่ถูกน้ำท่วมแบบยกเขตและเป็นเวลานาน ได้แก่ ตลิ่งชัน 37,243 ครัวเรือน ทวีวัฒนา 29,880 ครัวเรือน บางพลัด 45,252 ครัวเรือน บางแค 78,764 ครัวเรือน ภาษีเจริญ 6,839 ครัวเรือน หนองแขม 54,676 ครัวเรือน ดอนเมือง 64,735 ครัวเรือน บางเขน 51,302 ครัวเรือน สายไหม 83,816 ครัวเรือน หลักสี่ 46,141 ครัวเรือน จตุจักร 4,290 ครัวเรือน และคลองสามวา 26,129 ครัวเรือน

ไขปริศนา ไฉนน้ำไม่ท่วม ?

สาเหตุที่ทำให้มี 12 เขตรอดจากน้ำท่วม ทั้ง ๆ ที่กูรูน้ำหลายสำนักฟันล่วงหน้า กทม.ทั้ง 50 เขตจะไม่มีรอดแม้แต่ตารางนิ้วเดียว เป็นผลมาจาก "กทม.-รัฐบาล" มีความพยายามปกป้องไว้สุดฤทธิ์ โดยเฉพาะเขตชั้นในพื้นที่ "ไข่แดง" ย่านเศรษฐกิจ ด้วยการระดมเครื่องสูบน้ำมาดักไว้ ตั้งแต่น้ำเลยห้าแยกลาดพร้าวมาจนทำให้ "น้องน้ำ" เข้าไม่ถึงพื้นที่เศรษฐกิจคนกรุงเทพฯ

อีกส่วนหนึ่งอาจจะด้วยการตั้งรับของผู้อำนวยการเขตแต่ละเขตที่พยายามรักษาพื้นที่ของตัวเองให้ "แห้ง" ไว้นานที่สุด ทำให้ช่วย "กทม." พ้นจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไว้ได้อีกแรง

"ภาวิณี อามาตย์ทัศน์" ผอ.เขตปทุมวันบอกว่า หากปล่อยให้น้ำท่วมเขตปทุมวัน น้ำคงท่วมทั้ง กทม. แต่ด้วยระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่นี้รอดจากน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ป้องกันอะไรมาก แต่เป็นหน่วยเสริมในด้านการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ นักลงทุนและสถานทูตที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจ

ขณะที่ "ทรงชัย พยอมแย้ม" ผอ.เขตบางนาบอกว่า น้ำไม่ท่วมพื้นที่เขตเพราะได้ติดตามสถานการณ์น้ำและมีการสร้างแนวป้องกันตลอดแนวป้องกันไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น ซอยลาซาล ได้ปรับปรุงท่อระบายน้ำใหม่ นอกจากนี้ยังได้มีการเสริมแนวกระสอบทรายที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำในบริเวณถนนเลียบทางรถไฟ สำหรับในพื้นที่อื่น ๆ ทางสำนักงานเขตได้มีการเข้าไปแก้ปัญหาสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำไหลบริเวณคูคลองต่าง ๆ ด้วย

ส่วนแผนป้องกันในปี 2555 มี 2 ส่วน ได้แก่ 1) สร้างแนวป้องกันถาวร จุดที่ยังเป็นฟันหลอให้แล้วเสร็จ ปัจจุบันเขตบางนามีแนวป้องกันน้ำที่ดำเนินการโดยสำนักระบายน้ำ กทม.อยู่แล้ว ระยะทางประมาณ 2.5 กม. 2) พื้นที่ที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำ จะให้มีการขุดลอกคูคลองเพื่อเปิดทางให้น้ำไหลไปลงคลองบางนา และคลองบางอ้อ

"เราโชคดีที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำบางส่วนนอกจากจะผันไปลงคลองหลักในพื้นที่แล้ว บางส่วนยังผันไปลงคลองลัดโพธิ์ได้ด้วย ทำให้เรารอดจากวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้"

ด้าน "ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์" ผอ.เขตพระโขนงกล่าวว่า ค่อนข้างโชคดีที่มีระบบระบายน้ำในพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุด รับมือน้ำจากน้ำหลากเข้าพื้นที่ได้โดยมีประตูระบายน้ำ 3 แห่งที่ "คลองเจ๊ก-บางจาก-บางอ้อ" ช่วยระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ทันที รวมทั้งมีคลองหลักในการระบายน้ำมากกว่า 10 คลอง ในจำนวนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเขต 5 คลอง อีก 5 คลองอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักระบายน้ำ

ที่ผ่านมาได้วางแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำเต็มที่ เช่น การเร่งเก็บขยะ ขุดลอกคลองหลักในพื้นที่ไว้สำหรับรองรับกับปริมาณน้ำที่จะเข้ามา แม้ว่าจะมีระบบระบายน้ำที่ครอบคลุม แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เขตเตรียมรับมือมวลน้ำอย่างเต็มที่ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตที่อยู่อาศัย

"ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ นิยมเข้ามาพัฒนาคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอยู่ในแนวรถไฟฟ้า การป้องกันน้ำท่วมต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ด้าน" คำกล่าวของ ผอ.เขตพระโขนง

เช่นเดียวกับพ่อเมือง "คุณชายหมู-ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ผู้ว่าฯ กทม. ที่ประกาศเตรียมยกเครื่องแผนป้องกัน น้ำท่วม กทม.ใหม่ทั้งระบบเช่นกัน

หลังได้รับบทเรียนครั้งใหญ่จากวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับน้ำท่วมที่ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ในปีนี้จะเกิดขึ้นอีก "มากกว่า" หรือ "น้อยกว่า" ปี 2554 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป 
กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ